“Opportunities and Challenges for Satellite and Geo-informatic Technology to Enhance Thailand Capability for Future Industries” โอกาสและความท้าทายของการสร้างดาวเทียมภายในประเทศ และการประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อพัฒนาต่อยอดสมรรถนะของประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
“Opportunities and Challenges for Satellite and Geo-informatic Technology
to Enhance Thailand Capability for Future Industries”
โอกาสและความท้าทายของการสร้างดาวเทียมภายในประเทศ และการประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศ
เพื่อพัฒนาต่อยอดสมรรถนะของประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567 เวลา 13.30 – 17.00 น.
ณ ห้องประชุมแมนดารินเอ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ
วันที่ 3 ตุลาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็น “Opportunities and Challenges for Satellite and Geo-informatic Technology to Enhance Thailand Capability for Future Industries” โดยได้เชิญนักวิจัยภายใต้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium; TSC) และนักวิจัยภายใต้ภาคีวิจัยฟิวเจอร์เอิร์ธแห่งประเทศไทย (Future Earth Thailand Consortium) มานำเสนอความก้าวหน้าและแผนการพัฒนาการสร้างและพัฒนาดาวเทียม TSC-1 ภายในประเทศ และความก้าวหน้าและแผนระยะถัดไปของการประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และจัดให้มีการระดมความคิด และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ วิศวกรรมดาวเทียม เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง และอื่น ๆ รวมไปถึงคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากภาคอุตสาหกรรมดาวเทียม หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนหารือถึงโอกาสและความท้าทายของการสร้างดาวเทียมภายในประเทศ และการประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศ รวมถึงเทคโนโลยีขยายผล (Spill-over Technology) ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศภายในประเทศ เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและเสริมสมรรถนะของประเทศไทย ซึ่งการประชุมจัดขึ้น ณ ห้องประชุมแมนดารินเอ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ โดยมีอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเห็นมากกว่า 80 คน
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม โดยกล่าวถึงถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศภายในประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในด้านอวกาศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศไทย เนื่องจากข้อมูลจากดาวเทียมและภูมิสารสนเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขา เช่น การเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การวางแผนเมือง การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการบรรเทาภัยพิบัติ อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอนาคต อีกทั้งเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนา “เทคโนโลยีขยายผล หรือ Spill-over Technology” ที่ต่อยอดอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศอย่างกว้างขวาง เช่น
อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการแพทย์ และก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI, Machine Learning, Deep Learning และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้
อีกทั้ง ศาสตราจารย์ ดร.สมปองฯ กล่าวเสริมอีกว่า การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศภายในประเทศยังมีความท้าทายและอุปสรรคทั้งในด้านเทคโนโลยีที่ซับซ้อน การเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย การขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และการลงทุนงบประมาณที่สูง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จากภาคเอกชนที่นำเทคโนโลยีไปใช้ในเชิงพาณิชย์ จากภาคสถาบันการศึกษาในแง่ของการผลิตบุคลากรและวิจัยพัฒนา รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยี โดยการร่วมมือกับประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพัฒนาบุคลากรได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ บพค. ได้ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าด้านระบบโลกและอวกาศ เทคโนโลยีดาวเทียม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ พร้อมกับผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีที่เป็น cross cutting technology เช่น AI, cloud technology มาใช้ในการพัฒนางานวิจัย รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรวิจัย ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอวกาศและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในภูมิภาค และต่อยอดสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศ โดย บพค. ได้เริ่มสนับสนุนโครงการวิจัยด้านอวกาศตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 และได้สนับสนุนการสร้างดาวเทียม TSC-1 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งริเริ่มในการสนับสนุนโครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการด้านการเกษตร ในปีงบประมาณ 2567 รวมไปถึงการสนับสนุนการทดลองวิจัยในอวกาศในสาขาต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงอีกด้วย โดย บพค. ส่งเสริมการทำงานวิจัยในรูปแบบของ Consortium ภายใต้ความร่วมมือดำเนินงานจากหลากหลายสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับประเทศ เพื่อให้เกิดการนำความเข้มแข็งที่เป็นจุดเด่นของแต่ละสถาบันมาร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของโครงการ
ดังนั้น การประชุมระดมความคิดเห็นในวันนี้ บพค. จึงได้เรียนเชิญ ดร.วิภู รุโจปการ จาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT ในฐานะหัวหน้าโครงการ TSC-1 และเป็นผู้แทนภาคีวิจัยอวกาศไทย หรือ TSC (Thai Space Consortium) เพื่อนำเสนอ “ความก้าวหน้าการสร้างและพัฒนาดาวเทียม TSC-1 และก้าวต่อไปของการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมภายในประเทศต่อยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” และ ดร.ดำรงฤทธิ์ เนียมหมวด จาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในฐานะผู้แทน Future Earth Consortium เพื่อนำเสนอ “ความก้าวหน้าเทคโนโลยีอวกาศและเทศโนโลยีภูมิสารสนเทศ และก้าวต่อไปของการประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและต่อยอดอุตสาหกรรมอนาคต” และร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงโอกาสและความท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องภายใต้ 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
1) Technology Localization ซึ่งเป็นพิจารณาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทภายในประเทศ
2) Self-Sustainable หรือการพิจารณาความสามารถในการพึ่งพาตนเองในการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีภายในประเทศ
และ 3) Business Value หรือการต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อการใช้ประโยชน์ทางธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าให้กับประเทศ
การประชุมนี้ให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนางานวิจัยที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และจะเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผ่านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ รวมไปถึงเทคโนโลยีดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป