เบตง…ที่หลง…รัก

เริ่มต้นการเดินทางอีกครั้ง มุ่งสู่อ้อมกอดของขุนเขาและสายหมอก โดยสายการบินนกแอร์ จากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองบินตรงสู่ท่าอากาศยานนานาชาติเบตงโดยใช้เวลาเพียงแค่ชั่วโมงกว่าเราก็ถึงอำเภอใต้สุดของปลายด้ามขวานของประเทศไทยตั้งอยู่แนวเทือกเขาสันการาคีรีมีเนื้อที่ประมาณ 1,328 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองยะลา 140 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ในหุบเขาพื้นที่ตั้งของผังเมืองจึงมีความลาดชันเหมือนการเล่นระดับของพื้นที่คล้ายกับเมืองบางเมืองในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง มาเก๊า หรือ เวียดนาม จึงเป็นความสวยงามที่แปลกใหม่สำหรับผู้มาเยือนเป็นครั้งแรกอย่างผู้เขียน สมดั่งคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” เบตงเป็นเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมายซึี่งแต่ละแห่งอยู่ในระยะทางที่ไม่ไกลกันมากนัก การเดินทางค่อนข้างสะดวก อีกทั้งยังเป็นแหล่งแห่งอาหารการกินที่อร่อยและหลากหลายวัฒนธรรม

www.nokair.com

สถานที่แรกสำหรับท่องเที่ยวในตัวเมืองที่เรามาถึงคือ อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ เป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ บริเวณถนนอมรฤทธิ์ตัดกับถนนภักดีดำรง เป็นอุโมงค์ท่ี่ขุดทอดโค้งให้รถวิ่งไป-มาก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาวตลอดอุโมงค์ ประมาณ 273 เมตร กว้าง 9 เมรต ยาว 7 เมตร การไปเดินเล่นที่ตัวเมืองยังมีพื้นที่สตรีทอาร์ตน่ารัก ๆ กับภาพวาดบนผนังของชุมชนบ้านแต่ละหลังเป็นภาพเกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนเบตงไว้ให้ถ่ายรูปเล่น

                                                       

จากตัวเมืองเบตงเราเดินทางลงสู่เขตใต้สุดเขตแดนสยาม ใช้เวลาไม่นาน ระยะทางเพียง 7 กิโลเมตร ก็ถึงเขตชายแดนระหว่างอำเภอเบตงกับรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ผู้มาเยือนจึงนิยมมาถ่ายรูปคู่กับป้ายใต้สุดแดนสยาม ที่สร้างจากหินอ่อนสลักสัญลักษณ์เป็นรูปแผนที่ประเทศไทยและข้อความสีทองที่โดดเด่นภายใต้เนื้อหินอ่อนแห่งนี้

                   

อุโมงค์ปิยะมิตร อุโมงค์แห่งประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ที่บ้านปิยะมิตร 1 หมู่ 2 ตำบลตะเนาะแมเราะ บริเวณนี้เป็นหมู่บ้านของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เดิมเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (เขต 2 ) สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2520 อุโมงค์มีความกว้าง 5 – 6 ฟุต ยาวประมาณ 1 กฺโลเมตร ใช้กำลังขุดประมาณ 50 คน เวลาขุดโดยประมาณ 3 เดือน จุคนได้เกือบ 200 คน มีทางเข้าออกทั้งหมด 9 ทาง เชื่อมต่อถึงกันหมด ปัจจุบันเหลือ 6 ทาง ภายในมีสถานีวิทยุของอดีตคอมมิวนิสต์มาลายา มีห้องนอน ห้องเก็บเสบียง เป็นอุโมงค์คดเคี้ยวเลี้ยวเลาะไปตามทางยาวใช้เป็นฐานปฎิบัติการเพื่อหลบภัยทางอากาศและสะสมเสบียง ฐานยุทธภูมินี้อยู่บนภูเขาปกคลุมด้วยป่าทึบบริเวณตะเข็บแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดในอำเภอเบตง นอกจากอุโมงค์แล้วยังมีพันธุ์ไม้นานาพรรณให้ได้เรียนรู้รวมถึง “ต้นไม้พันปี” ไทรยักษ์แห่งเบตง เป็นต้นไทรขนาดใหญ่หลายต้นมารวมกันจนเกิดเป็นต้นใหญ่ที่มีช่องเหมือนอุโงค์ให้ลอดผ่าน ถือเป็นไฮไลท์อีกแห่งหนึ่งของที่นี่ ขากลับจากอุโมงค์ปิยะมิตรเราสามารถแวะพักผ่อนจะอาบน้ำหรือแช่เท้าก็ได้ที่บ่อน้ำร้อนเบตง

                     

 

หากไปเบตงไม่ควรพลาดการไปชมทะเลหมอกในตอนเช้า ๆ ชมพระอาทิตย์ขึ้น มีให้เลือกชม 2 สถานที่ คือ แบบผจญภัยปีนเขาสักเล็กน้อย นั่นคือ การไปชมบนยอดเขา “ฆูนุงซีลีปัต” ตั้งอยู่บนถนนอัยเยอร์เวง อ.เบตง ฆูนุงซีลีปัต เป็นภาษามาเลเซีย แปลว่า ภูเขาหินทรงสามเหลี่ยม ความสูง 607 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง มีหมอกให้ชมทั้งปีแบบ 360 องศา การเดินทางเราติดต่อไกด์ท้องถิ่นเพื่อขึ้นรถโฟร์วีลตอนตีห้า เพื่อไปถึงที่พักแคมป์ค้างคืนจากแคมป์เดินขึ้นสู่ยอดเขาสูงชันระยะทางประมาณ 300 เมตร ทางจะชันขึ้นเรื่อย ๆ มีบางช่วงที่ตั้งชันมากแต่จะมีเชือกขึงไว้เพื่อเกาะดึงขึ้นไป เมื่อขึ้นสู่ยอดเขาเราจะหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งกับภาพความสวยงามและบรรยากาศรอบด้านแบบ 360 องศา และความสวยงามของหมอกนั้นจะแปรเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ให้เราได้ชื่นชม

                               

หากต้องการไปชมทะเลหมอกแบบสบาย ๆ ไม่เหนื่อยไม่ต้องผจญภัยแนะนำให้ขึ้นไปที่สกายวอล์คอัยเยอร์เวงซึ่งปัจจุบันเป็นจุดที่เป็นไฮไลท์ของอัยเยอร์เวง เนื่องจากเป็นสกายวอล์คที่เป็นกระจกใสยื่นออกไปในป่า ภูเขา ที่เป็นธรรมชาติที่สวยงามและดึงดูดสายตาให้ตะลึงไปกับภาพเบื้องหน้านั้น

                           

จากเส้นทางกลับจากสกายวอล์ค สามารถเดินทางต่อเพื่อไปเที่ยวน้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเบตง เดิมน้ำตกแห่งนี้มีชื่อว่าน้ำตก “วังเวง” หรือ “อัยเยอร์เค็ม” เพราะเรียกถามชาวจีนที่มาทำเหมืองกับฝรั่งในยุคมลายูเป็นอาณานิคมอังกฤษ ชื่อ เข่ง ชาวบ้านเรียก “ไอเข่ง” “ไอเกง” เพี้ยนเป็น “อัยเยอร์เค็ม”  ต่อมาในปีมหามงคลครบรอบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี 2542 จึงได้เข้ามาพัฒนาบุกเบิกเส้นทาง พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและได้เปลี่ยนชื่อเป็น น้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

                  

เมื่อมาถึงเบตงร้านอาหารที่ไม่ควรพลาดที่ใคร ๆ ต่างแนะนำ คือ ร้านต้าเหยิน(กิตติ) เป็นร้านอาหารสไตล์จีน เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2527 มีรสชาติของอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของทางร้านซึ่งมีรสชาติที่อร่อยถูกปากของผู้มากินทั้งชาวไทยและมาเลเซีย อาหารที่แนะนำและไม่ควรพลาดคือ ไก่สับเบตง ไก่เบตงสับราดด้วยน้ำซีอิ๋วสูตรเฉพาะของทางร้าน เนื้อไก่นุ่มเด้งหนังจะหนุบหนับ กรุ๊บ ๆ ทานคู่กับพริกน้ำส้มของทางร้านจะอร่อยไปอีกแบบ หมี่เหลืองผัด จะมีกลิ่นหอมของกะทะเส้นเหนียวนุ่ม

               

ถั่วฝักยาวเจี๋ยน รสชาติจะออกเค็ม ๆ มัน ๆ อร่อยมาก  ผัดผักน้ำ ผักน้ำเป็นผักเฉพาะที่เบตง รสชาติจะมีรสขมติดปลายลิ้นนิดหน่อย ผักสด กรอบ อร่อย หาทานยาก

               

หมูแดงย่างหมั่นโถว เป็นเมนูเด็ดอีกหนึ่งอย่างไม่ควรพลาดกับรสชาติหมูแดงนุ่มฉ่ำหอม กินคู่กับหมั่นโถวนุ่ม ๆ แกงจืดลูกชิ้นแคะ ลูกชิ้นแคะนุ่มเด้งในปาก รสชาติละมุนลิ้น เนื้อปลาเปรี้ยวหวาน เนื้อปลานุ่มไม่มีกลิ่นคาว ร้านนี้มีอีกหลายเมนูให้เลือกกิน รวมถึงทีเด็ดของน้ำสมุนไพรของทางร้าน เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำลูกเดือยที่มีรสชาติไม่หวานมาก

              

สำหรับที่พักที่เราเลือกใช้บริการ โรงแรมแกรนด์วิว แลนด์มาร์ค เบตง เป็นโรงแรมที่รีโนเวทใหม่ สะอาด กว้างขวาง ตั้งอยู่บนพื้นที่เป็นเนินลาดชันสวยงาม ผู้มาพักส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียและชาวไทย ภายในห้องพักมีน้ำดื่ม ชา กาแฟ ที่สามารถทานได้ฟรี

             

             

               

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *