การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ครบรอบ 51 ปี
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ครบรอบ 51 ปี
วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2566) เวลา 10.00 น. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ครบรอบ 51 ปี โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง กทพ. ร่วมให้การต้อนรับ ณ หอประชุม 0101 ชั้น 1 อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ กทพ.
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กทพ. ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานอันดับต้น ๆ ที่มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน และช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมา กทพ. มีผลงานการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการให้บริการประชาชนไม่ว่าจะเป็นระบบ เก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติด้วยบัตร Easy Pass การพัฒนาศูนย์ควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS Center) การพัฒนาระบบ e-Service การจัดตั้งศูนย์บริหารการจราจรทางพิเศษ (Expressway Traffic Management Center) และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพิ่มความสะดวกในการผ่านทางพิเศษให้กับประชาชน อันหมายถึงความสุขของประชาชนในทุกมิติ “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประเทศ” อีกด้วย
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 51 ปี ที่ กทพ. ได้ก่อตั้งขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 จนถึงปัจจุบัน กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษไปแล้ว 8 สายทาง รวมระยะทาง 224.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษประจิมรัถยา และมีโครงการสำคัญเร่งด่วนที่กำลังดำเนินการ 3 โครงการ คือ
1) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร กำหนดเปิดให้บริการภายในต้นปี 2568
2) โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร ที่อยู่ระหว่างดำเนินการหาผู้รับจ้างดำเนินการ
3) โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวน รอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเสนอ ครม. ขออนุมัติดำเนินโครงการฯ
นอกจากนี้ ในด้านการจัดเก็บค่าผ่านทาง ได้ติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น Multi-lane Free Flow หรือ M-Flow ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยร่วมกับกรมทางหลวง ในการบูรณาการ ให้เป็นไปในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหารถติดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง โดยกำหนดเปิดให้บริการบนทางพิเศษฉลองรัช ที่ด่านฯ จตุโชติ, ด่านฯ สุขาภิบาล 5-1 และด่านฯ สุขาภิบาล 5-2 ในกลางปี 2567 รวมถึงดำเนินการติดตั้งบนทางพิเศษฉลองรัชในด่านฯ ที่เหลือ และดำเนินการติดตั้งบนทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษกาญจนาภิเษก
(บางพลี-สุขสวัสดิ์) และบนทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษอุดรรัถยาต่อไป นอกจากนี้ ยังจะได้ติดตั้งระบบ M-Flow ในทางพิเศษที่จะดำเนินการในอนาคตอีกด้วย
กทพ. มุ่งมั่นในการพัฒนา และปรับสถานะขององค์กรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๕ ประเภทรางวัล “การพัฒนาองค์กรดีเด่น” จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเดียวในกระทรวงคมนาคมที่ได้รับรางวัลนี้ และ กทพ. ยังได้รับคะแนน
ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปี 2566 อยู่ในเกณฑ์ผ่านดี 94.11 คะแนน นอกจากนี้ กทพ. ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ ชั้นแนวหน้าในการนำส่งเงินเข้ารัฐเป็นรายได้ของแผ่นดินเพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด โดยได้ส่งเงินเป็นรายได้ของแผ่นดินเพื่อนำไปพัฒนาประเทศมาตั้งแต่ปี 2526 โดยนับถึงปัจจุบัน กทพ. นำส่งเงินเข้ารัฐไปแล้วมากกว่า 47,861 ล้านบาท และล่าสุดปี 2565 กทพ. ได้นำส่งเงินเข้ารัฐจำนวน 3,064 ล้านบาท
นอกเหนือจากภารกิจการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานเพื่อประชาชนแล้ว กทพ. ยังคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างระบบการทางพิเศษที่ยั่งยืน เพื่อให้สามารถรับมือกับการเติบโตของชุมชนเมืองและสภาพปัญหาการจราจรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด โดย กทพ. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ
กับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เพื่อขับเคลื่อน “MISSION 2023” ส่งเสริมใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก
ทุกการก่อสร้างเครือข่ายระบบทางพิเศษ นำร่อง 2 โครงการทางพิเศษ ลดก๊าซเรือนกระจก 34,104 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ สนับสนุน Thailand Net Zero สู้วิกฤตเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างยั่งยืน
นอกจากการให้บริการทางพิเศษ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กทพ. ยังได้มีแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษในจังหวัดภูมิภาค ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะที่ 1 (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 17 กิโลเมตร โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 30 กิโลเมตร รวมถึงโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโครงการทางพิเศษเกาะแก้ว จังหวัดตราด ที่อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ
“กทพ. จะยังคงพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้ทางพิเศษเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต คนไทยอย่างยั่งยืน และจะไม่จำกัดอยู่แค่พื้นที่กรุงเทพฯ
และปริมณฑลเท่านั้น เพราะคำว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พวกเราพร้อมก้าวออกไปแก้ไขปัญหาจราจร
และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ในโอกาสก้าวผ่านเกินครึ่งศตวรรษ สู่ปีที่ 52 ด้วยคำจำกัดความว่า ก้าวย่างอย่างมั่นใจ นำเส้นทางใหม่สู่ภูมิภาค” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด
“องค์กรนวัตกรรมเพื่อการเดินทาง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
Innovation for better drive and better life”